ราคา น้ำมันโลก ร่วง ทิศทาง “ขาลง”จากเศรษฐกิจชะลอ-โควิดในจีน

ราคา น้ำมันโลก

แนวโน้มราคาน้ำมันโลกขยับลง คาดความต้องการใช้น้ำมันลดลงจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัว เนื่องจากธนาคารกลาสงหลายประเทศขึ้นดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อ

น้ำมันโลก

ราคาน้ำมันในตลาดโลกขยับลง

จากนักลงทุนคาดว่าการผลิตน้ำมันในสหรัฐจะปรับเพิ่มขึ้น และเศรษฐกิจจีนชะลอตัว รวมทั้งการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในจีนยังเพิ่มสูงขึ้น ทำให้ความต้องการใช้น้ำมันลดลง นอกนั้นนักลงทุนยังกังวลเฟดขึ้นดอกเบี้ยแรงฉุดเศรษฐกิจโลก ซึ่งจะกระทบต่อความต้องการใช้น้ำมันในระยะต่อไป

ในตลาดเอเชีย เช้านี้(1 เดือนพฤศจิกายน) ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ ตกไปอยู่ที่ระดับ 92 ดอลลาร์/บาร์เรล และน้ำมันดิบ WTI ตก 1.37 ดอลลาร์ เคลื่อนไหวที่ระดับ 86.53 ดอลลาร์/บาร์เรล

น้ำมันโลกลง

ราคาน้ำมันโลกในตลาด ย้อนหลัง 15 วัน

อย่างไรก็ตาม หน่วยธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT รายงานว่าราคาน้ำมันดิบเฉลี่ยสัปดาห์หมดวันที่ 28 ต.ค. 65 เพิ่มขึ้น จากอุปสงค์น้ำมันมีทิศทางฟื้นตัว ท่ามกลางรายงานตัวเลขของประเทศเศรษฐกิจหลัก อาทิ จีน และสหรัฐฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้นมากกว่าคาดการณ์

กระทรวงพาณิชย์ของสหรัฐฯ รายงานอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) ในไตรมาส 3/65 อยู่ที่ +2.6% จากไตรมาสก่อนหน้า สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ +2.4% จากไตรมาสก่อนหน้า ทั้งนี้ ในไตรมาส 1 และ 2/65 GDP สหรัฐฯ หดตัวที่ -1.6% และ -0.6% จากไตรมาสก่อนหน้า เป็นลำดับ ซึ่งทางเทคนิคนับว่าเข้าสู่ภาวะถดถอย

แนวโน้มราคาน้ำมันดิบสัปดาห์นี้มีทิศทางอ่อนตัวลง โดยคาดว่าจะเคลื่อนไหวที่ระดับ 92-97 เหรียญสหรัฐฯ โดยราคาน้ำมันดิบ ICE Brent ปิดตลาดในวันศุกร์ที่ 28 ต.ค. 65 ลดลงเป็นครั้งแรกในรอบสัปดาห์ จากความกังวลการแพร่ระบาด COVID-19 ในจีนระลอกใหม่ ทำให้รัฐบาลจีนเพิ่มมาตรการควบคุม COVID-19 ในหลายเมือง อาทิ Guangzhou, Wuhan และ Xining หลังรายงานตัวเลขผู้ติดเชื้อ COVID-19 รายใหม่ ณ วันที่ 28 ต.ค. 65 อยู่ที่ 1,658 ราย เพิ่มขึ้นจาก 1,506 ราย ในวันก่อนหน้า

เงินดอลลาร์สหรัฐฯ มีทิศทางแข็งค่าขึ้น โดยดัชนีดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งเทียบกับตะกร้าเงินสกุลหลักของโลกปิดตลาดวันที่ 28 ต.ค. 65 เพิ่มขึ้น 0.16 จุด อยู่ที่ 110.75 จุด เพิ่มขึ้นสม่ำเสมอวันที่ 2 จากนักลงทุนคาดการณ์ ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Federal Reserve) จะปรับเพิ่มขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.75% ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (Federal Open Market Committee: FOMC) ในวันที่ 1-2 เดือนพฤศจิกายน 65

ราคาน้ำมันโลกขยับลง

ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงลบ

Reuters รายงาน อินเดียนำเข้าน้ำมันดิบในเดือน ก.ย. 65 ลดลง 5.6% จากปีก่อนหน้า อยู่ที่ 3.91 ล้านบาร์เรลต่อวัน ต่ำสุดในรอบ 14 เดือน
วันที่ 27 ต.ค. 65 ธนาคารกลางยุโรป (European Central Bank: ECB) มีมติปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มขึ้น 0.75% ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ย Deposit Facility Rate อยู่ที่ 1.5%, อัตราดอกเบี้ย Refinancing Operations Rate อยู่ที่ 2.0% และอัตราดอกเบี้ย Marginal Lending Facility Rate อยู่ที่ 2.25% และประธาน ECB นาง Christine Lagarde กล่าวเสริมว่า เงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นจากวิกฤติอาหารและพลังงานเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เศรษฐกิจยุโรปมีแนวโน้มชะลอตัว
สำนักสถิติแห่งชาติของรัสเซีย (Rosstat) รายงาน ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบและคอนเดนเสท ในเดือน ก.ย. 65 เพิ่มขึ้น 0.16 แสนบาร์เรลต่อวัน จากเดือนที่ผ่านมาหน้า อยู่ที่ 10.8 ล้านบาร์เรลต่อวัน ทั้งนี้ รัสเซียผลิตคอนเดนเสทประมาณ 7-8 แสนบาร์เรลต่อวัน
ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงบวก
สำนักสถิติแห่งชาติจีนรายงานอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) ในไตรมาส 3/65 อยู่ที่ +3.9% จากปีก่อนหน้า สูงกว่าไตรมาสก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ +0.4% จากปีก่อนหน้า
Baker Hughes Inc. รายงานจำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบในสหรัฐฯ สัปดาห์หมดวันที่ 28 ต.ค. 65 ลดลง 2 แท่น จากสัปดาห์ก่อนหน้า มาอยู่ที่ 610 แท่น